พอเข้าใกล้โรงเรียน ก็จะมีป้ายกำหนดความเร็วอย่างที่เห็น ถ้าเป็นช่วงก่อนเข้าเรียน หรือหลังเลิกเรียนก็จะมีไฟกระพริบให้เห็นด้วย
พอเข้าใกล้โรงเรียน ก็จะมีป้ายกำหนดความเร็วอย่างที่เห็น ถ้าเป็นช่วงก่อนเข้าเรียน หรือหลังเลิกเรียนก็จะมีไฟกระพริบให้เห็นด้วย

ที่อเมกา ถ้ามีคนมายืนที่ริมฟุตบาทตรงทางม้าลายเพื่อรอข้ามถนน คนขับรถยนต์มีหน้าที่ต้องหยุดให้คนเดินถนนข้าม เท่าที่ผมเข้าใจการหยุดไม่ได้เกิดจากความ “เอื้อเฟื้อ” แต่เป็น “หน้าที่” ที่คนขับรถต้องทำ

ผมรู้ดี ว่าที่เมืองไทย คนเดินถนนต้องหยุดรอจนกว่ารถจะว่างแล้วก็ค่อยข้ามไป คนขับรถยนต์จะไม่ชลอหรือหยุดให้คนข้าม ถ้าหยุดก็ถือเป็นเรื่องแปลก และอาจโดนรถคันหลังชนตูด หรือโดนบีบแตรไล่

ที่เมืองไทยแก้ปัญหานี้โดยการสร้างสะพานลอยคนข้าม เหมือนจะดูดีวินวินทั้งสองฝั่ง แต่เมื่อมองให้ละเอียดลงไป มันเป็นการผลักภาระให้คนเดินถนน และให้ความสำคัญกับการเคลื่อนตัวของรถยนต์แบบไม่สะดุดมาเป็นอันดับแรก

แต่เราลืมไปว่าการเดินข้ามสะพานลอยที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย หรือเป็นไปได้ยากสำหรับ คนแก่, คนพิการ, คนที่ต้องใช้รถเข็น, คนที่ขี่จักรยาน, ฯลฯ

ที่อเมริกา เท่าที่ผมไปเห็น ไปอยู่มา หลายเมืองใหญ่ที่คนอยู่อาศัยเป็นหลักล้านอย่างนิวยอร์คซิตี้, บอสตัน, Houston, วอร์ชิงตันดีซี ผมจำไม่ได้ว่าผมไปเห็นเค้าสร้างสะพานลอยคนข้ามไว้ที่ไหน พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก เห็นมีแต่ทางม้าลายเท่านั้น

เขียนแล้วก็นึกถึงถนนคูเมืองบริเวณหน้าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ที่เชียงใหม่ ตรงนั้นที่ถนนด้านนอกคูเมืองมีสะพานลอยเพื่อให้เด็กนักเรียนเดินข้าม สร้างไว้เพื่อเหตุผลที่ในสมัยก่อนอาจฟังแล้วดูดีว่า “เพื่อให้นักเรียนปลอดภัย” แต่นัยหนึ่งก็เพื่อ “ให้รถวิ่งไปได้โดยไม่ต้องชะลอความเร็ว” ต่างหาก ซึ่งถ้าเรามองให้ลึกลงไปแล้วเราก็จะเห็นว่า เราให้ความสำคัญของรถยนต์มากกว่าคนเดินถนนจริงๆ

ผมไม่ได้มองว่าสะพานลอยเป็นสิ่งเลวร้ายอะไร มันอาจตอบโจทย์ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไป หลายอย่างก็ควรจะต้องเปลี่ยนตาม

ในสมัยที่เราเริ่มมีรถยนต์ใช้ เริ่มต้นการเดินทางด้วยการใช้รถยนต์ การสร้างถนนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้รถยนต์เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ตอนนี้ที่บริบทของสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว การให้ความสำคัญกับการเดินทางด้วยรถยนต์น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว

ที่หน้าโรงเรียนในอเมริกา ริมถนนก่อนถึงโรงเรียนจะมีป้ายกำหนดความเร็ว ที่ช้ากว่าบริเวณอื่น เท่าที่เห็นก็ 20mile/hour หรือ 32กม./ชม. แค่นั้นเอง ในความเป็นจริงก็แทบจะเรียกได้ว่ารถนั้นคลานมาเลย เด็กนักเรียนที่เดินมาถึงทางม้าลายก็แทบจะไม่ต้องมองอะไร คนขับรถก็จอดรถให้เด็กนักเรียนข้ามตั้งแต่ยังไม่ถึงทางม้าลาย ตั้งแต่อยู่ห่างหลายสิบเมตรโน่น

ที่เขียนนี่ก็ไม่ได้เห็นว่าฝรั่งเป็นพระเจ้า แล้วมองเห็นเมืองไทยเลวร้ายอะไรหรอกนะครับ ก็ในเมื่อประเทศเราเป็นประเทศ “กำลัง” พัฒนา เราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆตามหลังประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ผมก็ไม่เห็นว่าจะแปลกอะไร

บางคนอาจคิดว่าประเทศไทยน่ะเหรอ รอชาติหน้าล่ะมั้งถึงจะได้เห็น แต่ผมคิดว่ามันอาจไม่ต้องรอนานขนาดนั้นก็ได้มั้ง ช่วยกันพูด ช่วยกันวิจารณ์ ช่วยกันทำ ช่วยกันเสนอความเห็น คนนึงอาจไม่ดัง ช่วยกันหลายคนมันก็ดังขึ้นเองนั่นแหล่ะ

สมัยผมเรียนมัธยมต้องโหนรถไฟจากสถานีวัดสิงห์แถวบางขุนเทียนไปวงเวียนใหญ่ทั้งเช้าทั้งเย็นเพื่อไปเรียนหนังสือ สมัยนั้นห้อยกันต่องแต่งออกมานอกตัวรถ เวลาผ่านสะพานเหล็กแถวคลองบางขุนเทียนก็ต้องดันตัวเองหลบเข้าไปในรถ จะได้มีชีวิตรอดไปเรียนหนังสือ ผ่านไปไม่กี่ปีจาก ม.ต้นไปเป็นม.ปลาย รถไฟก็มีประตูอัตโนมัติที่ทำให้ไม่ต้องห้อยโหนออกมานอกตัวรถอีกแล้ว ใช้เวลาหน่อย แต่มันก็ค่อยๆดีขึ้นไปเอง

ขอแค่เราอย่าไปหมดหวัง ทิ้งสังคมไป ทิ้งคนที่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรได้น้อย อย่างคนจน คนพิการ คนแก่ ฯลฯ แล้วก็เอาตัวเองให้รอด เอาแต่ครอบครัวตัวเองให้รอดเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะทำให้สังคมค่อยๆดีขึ้นได้ล่ะครับ

ย่านที่พักอาศัย สายไฟ สายโทรศัพท์มักถูกนำลงไปวางอยู่ใต้ดิน พื้นที่ด้านบนก็เลยสามารถปล่อยให้ต้นไม้ใหญ่โตได้อย่างที่เห็น
ย่านที่พักอาศัย สายไฟ สายโทรศัพท์มักถูกนำลงไปวางอยู่ใต้ดิน พื้นที่ด้านบนก็เลยสามารถปล่อยให้ต้นไม้ใหญ่โตได้อย่างที่เห็น
ทางเดินเท้าที่มีทางลาด สำหรับคนที่ใช้รถเข็น มีให้เห็นตลอด
ทางเดินเท้าที่มีทางลาด สำหรับคนที่ใช้รถเข็น มีให้เห็นตลอดในอเมริกา