ผมออกจะประหลาดใจอยู่บ้าง ที่เพิ่งรู้ครับว่าขณะที่ผมกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ในปี 2011 ยังมีคนผิวขาวบางส่วนในประเทศนี้ ยังคงเรียกผู้ชายผิวดำว่า “boy” และเรียกผู้หญิงผิวดำว่า “girl” ฟังดูก็ดูน่ารักดีนะครับ แต่ในความน่ารักนั้นมันมีนัยยะอื่นอยู่ด้วยครับ มันทำให้คนที่ถูกเรียกรู้สึกว่า ต่ำต้อยกว่า(inferior) และทำให้คนเรียกรู้สึกว่า เหนือกว่า(superior) น่ะครับ เท่าที่ผมทราบ ก็ยังมีอยู่แถบทางใต้นั่นล่ะครับ แถวๆ อลาบาม่า(Alabama) จอร์เจีย(Georgia) ส่วนหนึ่งของรัฐที่เป็นใต้สุดๆ (deep south) นั่นล่ะครับ

รัฐที่ถือว่าเป็น deep south ของอเมริกาช่วงก่อนสงครามกลางเมือง(civil war) นั้นจะมีอยู่ห้ารัฐคือ อลาบาม่า (Alabama), หลุยส์เซียน่า(Louisiana), จอร์เจีย(Georgia), เซาท์แคโรไลน่า(South Carolina), มิสซิสซิปปี้ (Mississippi) เป็นห้ารัฐที่สมัยก่อนสงครามกลางเมืองที่ผู้คนยังต้องพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก อีกชื่อหนึ่งก็คือ Cotton state

จากแผนที่ด้านล่าง จริงๆแล้วฟอริด้า (Florida) ก็น่าจะถือว่าเป็น deep south states ไปด้วย แต่เนื่องจากฟอริด้า มีความพิเศษคือ เป็นเมืองที่มีคนอพยพไปอยู่จากรัฐอื่นอยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่เกษียณแล้วไม่ต้องทำงานแล้ว ไปสร้างบ้านพักตากอากาศ หนีหนาวไปอยู่ที่นั่น วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ก็เลยแตกต่างไปจาก deep south states อื่นๆ จะมีหลงเหลือความเป็น deep south states อยู่ก็ส่วนที่เป็น ตอนเหนือๆนั่นล่ะครับ

กลับมาที่เรื่อง “คนดำ” ที่ผมตั้งใจจะเขียนครั้งนี้กันครับ อย่างที่รู้ว่า คนผิวดำจากทวีปแอฟริกาถูกพามาด้วยวิธีการหลายรูปแบบ ซื้อมา, จับมา, มาด้วยความเต็มใจ มาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงานในการเกษตร เช่น ปลูกพืช, เลี้ยงสัตว์ วิกีพีเดียบอกว่า ทาสผิวดำที่มาช่วงแรกก็ตั้งแต่ปี 1619 โน่น เทียบได้กับปี พ.ศ.2462 เข้ามาช่วงแรกก็อยู่ในรัฐฝั่งตะวันออก แถวเวอร์จิเนีย แล้วก็ถูกพาเข้ามามากขึ้นจนกระทั่งผ่านไปสองร้อยปี ประมาณกันว่ามีคนแอฟริกาที่ถูกพาออกไปเป็นทาสมากถึง 12 ล้านคน และอยู่ในอเมริกาอยู่ประมาณ 6 แสนกว่าคน (มันไม่หมดทวีปเลยเหรอนั่น)

ผมเคยได้ยินมาว่า คนดำหลายคนไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า “African American” แต่ชอบให้ถูกเรียกว่า “Black American” เพราะเค้ารู้สึกว่า เค้าไม่ใช่ “แอฟริกัน” แต่เค้าเป็นอเมริกันจริงๆ อันนี้ก็นานาจิตตัง นะครับ แต่ผมว่า พูดกันตามเนื้อผ้า สืบกันไปถึงบรรพบุรุษจริงๆ ก็หนีกันไม่พ้นหรอกครับที่จะเจอว่าปู่ของปู่ ย่าของย่า เป็นทาสกันมาก่อน ทว่าหลายคนยินดีมากที่จะถูกเรียกว่า แอฟริกันอเมริกัน เพราะอยากระลึกถึงบรรพบุรุษที่เคยถูกพามาเป็นทาส นั่นล่ะครับ (ผมมีเพื่อนคนนึง เป็นคนมีน้ำใจ ใจดีแบบที่คนเอเชียมักจะเป็น หน้าตาเอเชียตะวันออกจัดๆ พูดอังกฤษก็ยังมีกลิ่นเอเชียให้ได้รู้สึก แต่ชื่อเป็นชื่อฝรั่งเต็มที่ บอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นอเมริกันเต็มตัว และเลี่ยงๆทุกครั้งที่จะพูดถึงพ่อแม่ เชื้อชาติของพ่อแม่ อะไรงั้น อย่างนี้ผมว่ามันก็เกินไปหน่อย)

เวลาค้นข้อมูลเกี่ยวกับ การเหยียดผิวในอเมริกา ผมมักเจอกฏหมายหนึ่งที่ชื่อว่า Jim Crow อยู่เสมอ กฏหมายนี้ถูกใช้อยู่เกือบร้อยปีตั้งแต่สงครามกลางเมืองจบใหม่ๆ เพิ่งมายกเลิกเมื่อยุคซิกส์ตี้นี่เอง เป็นกฏหมายที่ออกมาเพื่อ “ให้เหมือนกับว่า” เน้นแบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน แต่ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ทำให้คนผิวดำถูกแยกออกจากการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆที่รัฐจัดให้ เช่น โรงเรียน สถานที่สาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน มีตัวอย่างให้เห็นจาก ที่ดื่มน้ำที่ต้องแยกสำหรับคนขาว และคนดำ โรงเรียนที่เปิดเฉพาะสำหรับเด็กผิวขาว ห้ามเด็กผิวดำมาเรียน หรือร้านอาหารที่อนุญาตเฉพาะคนขาวเท่านั้น

ชื่อของกฏหมายนี้ ได้มาจากการแสดงที่เรียกว่า Jim Crow dance เป็นการแสดงที่ถูกคิดขึ้นจากคนผิวขาวชื่อ Thomas Rice โดยทาสีตัวเองให้ดูเหมือนกับเป็นคนผิวดำ แล้วก็นำกิริยาท่าทาง สำเนียงการพูดของคนผิวดำมาใช้ล้อเลียนในการแสดง ซึ่งเพลงที่นำมาแสดงส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการดัดแปลง เพลงที่ร้องกันในกลุ่มทาสผิวดำนั่นเอง (ผมอ่านย่อหน้านี้แล้วผมรู้สึกเจ็บปวดชะมัด)

ช่วงหลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา เป็นช่วงที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านการเลิกทาสแบบจริงจังมาก เพราะเหตุผลหลักของตัวสงครามกลางเมืองเองก็มาจาก ความเห็นเรื่อง “ทาส” ที่แตกต่างกันระหว่าง ฝ่ายเหนือ (Union) ที่เห็นว่าควรยกเลิกการมีทาสไปเสีย แต่ฝ่ายใต้ (Confederacy) ที่เห็นว่าควรยังมีทาสต่อไป

อย่างที่ทราบกันว่า สงครามครั้งนั้น ฝ่ายใต้เป็นฝ่ายแพ้สงคราม การมีทาสเป็นเรื่องผิดกฏหมายไป แต่การแพ้สงครามก็ไม่ได้ทำให้ความคิดของคนขาวที่สนับสนุนให้มีทาสเปลี่ยนไป มีทหารฝ่ายใต้บางส่วน ก่อตั้งกลุ่มใต้ดินขึ้นมา ตั้งชื่อว่า กลุ่ม คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan) ในช่วงที่สงครามสิ้นสุดใหม่ๆ โดยมีแนวคิดที่เชื่อว่า แผ่นดินอเมริกานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคนผิวขาวเท่านั้น

กลุ่ม KKK นี้มีบทบาทที่ต่อต้านคนผิวดำในพื้นที่ตอนใต้อยู่ในช่วงหลังสงครามกลางเมือง มีกลุ่มต่อต้านที่เรียกว่า Anti-KKK เกิดขึ้นทางตอนเหนือด้วย หลังจากนั้นกลุ่ม KKK ก็เงียบหายไป กลับมามีบทบาทอีกครั้งช่วงปี 1915 และอีกครั้งคือช่วงปี 1950 โดยทั้งสองครั้งหลังขยายวงไปถึงการต่อต้านคนเชื้อสายอื่นด้วย เช่น ยิว ฮิสแปนิค (Hispanic) หรือที่เรียกว่าเม็กซิกัน รวมทั้งเอเชียนด้วย แต่ก็ไม่ลืมการต่อต้านคนผิวดำไว้เหมือนเดิม อ้อ ช่วงที่สามของการดำเนินการนี้มีเพิ่ม การต่อต้านคอมมิวนิสท์เข้าไปด้วย

เรื่องการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติในอเมริกา ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าตอนนี้ยังรุนแรงกันอยู่หรือเปล่า แต่ถ้าจะให้พูดตามประสบการณ์ ตามที่พบมาด้วยตัวเองบ้าง ได้ยินมาบ้าง มันก็ยังมีอยู่ เพียงแต่คนผิวขาวที่รู้สึกไม่ชอบคนเชื้อสายอื่น คงไม่กล้าแสดงตัว หรือออกอาการกระโตกกระตากให้เห็นแล้ว เพราะตอนนี้ความคิดแบบนี้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจไปเองแล้ว และในบางรัฐบางเมือง อย่างนิวยอร์คซิตี้ แทบจะเรียกได้ว่า คนผิวขาวกลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปเลย ถ้าเอาคนเชื้อสายอื่นๆมารวมกัน

พูดถึงเรื่องยิว เลยทำให้นึกถึงเรื่องที่ผมเพิ่งอ่านจบไป เกี่ยวกับผู้ชายยิวคนหนึ่งชื่อ ลีโอ แฟร็งค์ Leo Frank เป็นเรื่องที่น่าหดหู่เสียนี่กระไร อ่านแล้วก็งงๆว่าคนเรา ทำไมถึงรังเกียจเดียจฉันท์คนต่างสีผิว ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมกันจนสามารถเอาชีวิตกันได้เลยทีเดียว แล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ

มีหนังเรื่องนึงครับ ที่ผมชอบ ผมดูมาหลายรอบ แต่รอบแรกที่ดู บอกได้เลยว่าดูไม่จบ ไม่ไหวมีฉากน่ากลัว รุนแรงมากมาย และประเด็นของหนังเองก็เครียดเหลือใจ ผมเอาลิงค์ของหนัง ในฉากที่ผมจำได้ติดตา มาแปะไว้ ถ้าคุณๆใจแข็งพอก็เข้าไปดูนะครับ หนังเรื่องนี้ชื่อ American History X มีเฮียเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน กับ น้องเอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง แสดงดีทั้งคู่ ผมว่าคงเป็นหนังในใจหลายคนเหมือนกันแหล่ะ
ย้ำอีกที มีฉากน่าหวาดเสียวในนี้นะครับ ทำใจกันก่อนเข้าไปดูด้วยล่ะ
http://www.youtube.com/watch?v=NZHh68NacPM&feature=related

เขียนเรื่องนี้มาถึงย่อหน้าสุดท้ายนี่แล้ว ไม่รู้ทำไมทำให้ผมคิดถึง มุมมองคนไทยบางกลุ่มที่มองไปยังเขมร ที่เกิดขึ้นจากกรณีรบกันของไทยกับเขมรก็ไม่รู้สิครับ

ขอจบเรื่องนี้ดื้อๆแบบนี้ล่ะครับ เขียนต่อเดี๋ยวมีดราม่า
สวัสดีครับ